ขอเชิญร่วมประชุมเสวนา "การผลิตแบบดิจิทัล: เทคโนโลยีการผลิตเพื่ออุตสาหกรรมอนาคต (Intelligent Digital Fabrication: Manufacturing Technologies for Future Industries)" 2179 Views

รายละเอียด


ที่มาและความสำคัญ

      “การผลิตแบบดิจิทัล” เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถออกแบบและผลิตผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนได้อย่างรวดเร็วเหนือจินตนาการ ยิ่งผลิตภัณฑ์และการดำเนินการผลิตมีความซับซ้อนมากเท่าใด การผลิตแบบดิจิทัลก็ยิ่งมีคุณค่ามากขึ้นเท่านั้น การผลิตแบบเติมเนื้องานทีละชั้น (additive manufacturing technologies, AM) ซึ่งเป็นเทคนิคการผลิตแบบดิจิทัลที่ได้ผ่านการพัฒนาที่สำคัญและมีการใช้งานในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ยานยนต์ การแพทย์ วัสดุ สถาปัตยกรรม การก่อสร้าง อาหาร แฟชั่น การบินและอวกาศ เทคโนโลยีนี้ได้เปรียบในการผลิตแบบเรขาคณิตและวัสดุที่ซับซ้อน น้ำหนักเบาแต่แข็งแรง อุตสาหกรรมยานยนต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การประยุกต์ใช้ทางชีวการแพทย์นั้นมีความหลากหลายการผลิตรากฟันเทียมและอวัยวะเทียมแบบเฉพาะเจาะจงแก่ผู้ใช้ อุปกรณ์ทางการแพทย์และการวินิจฉัย วิศวกรรมเนื้อเยื่อ เวชศาสตร์ฟื้นฟู ฯลฯ เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น เทคโนโลยีนี้ยังสามารถพิมพ์สารประกอบเคมีและวัสดุต่างๆ โดยสร้างสถาปัตยกรรมที่ซับซ้อนซึ่งยากต่อการผลิตแบบดั้งเดิม สถาปนิกนำไปใช้ประโยชน์ ในการพิมพ์แบบจำลองที่ซับซ้อนเพื่อนำเสนอแก่ลูกค้าด้วยรูปลักษณ์ที่สวยงาม วิศวกรรมการก่อสร้างโดยใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อพิมพ์โครงสร้างขนาดใหญ่ อุตสาหกรรมอาหารใช้เทคโนโลยีนี้ในการพิมพ์ช็อกโกแลต คุกกี้ เค้ก ด้วยรูปแบบที่เหมือนกันทั้งขนาดและรูปทรงช่วยลดต้นทุน รวมถึงมีการใช้เทคโนโลยีนี้ในการผลิตชิ้นส่วนขนาดใหญ่ เช่น ในอุตสาหกรรมยานยนต์และการบินอวกาศ การแพทย์  ยานยนต์ ที่อยู่อาศัย การบินและอวกาศ การทหาร ในอนาคตอันใกล้นี้ เทคโนโลยี AM จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น ทันตกรรม อาหารเฉพาะบุคคล การก่อสร้าง สถาปัตยกรรม แฟชั่น ของเล่น เฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน ฯลฯ  

       โดยตระหนักถึงความสำคัญและความน่าสนใจของเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการผลิตแบบดิจิทัลอัจฉริยะ (Intelligent Digital Fabrication Industry) ในการนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้กำหนดจัดประชุมเสวนาโดยเรียนเชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน ประกอบด้วย นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ  ผู้ประกอบการ (ผลิตหรือให้บริการ) ผู้ใช้  (users) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมแลกเปลี่ยน ระดมความคิดเห็นเพื่อช่วยกันกำหนดกรอบทิศทางการสนับสนุนอุตสาหกรรม IDF ของประเทศไทย รวมทั้งพัฒนาให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันเป็นเครือข่ายเพื่อสนับสนุนและร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยี IDF ให้เกิดขึ้นในประเทศอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

วัตถุประสงค์การประชุม

  1. ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์บริบทการวิจัยและพัฒนา การใช้ และตลาดเทคโนโลยีด้าน IDF รวมทั้งระดับขีดความสามารถของประเทศไทยในปัจจุบัน
  2. ได้กรอบประเด็นให้การสนับสนุนการวิจัยสำหรับอุตสาหกรรม IDF
  3. ได้เครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบการ ผู้ใช้ รวมทั้งหน่วยงานและข้อมูลที่เกี่ยวข้องสำหรับใช้ขับเคลื่อนงานด้าน IDF ในระยะต่อไป

อุตสาหกรรมเป้าหมาย 

  • การแพทย์และสุขภาพ
  • ยา / เครื่องสำอาง
  • อาหาร / อาหารสัตว์
  • อิเล็กทรอนิกส์ / ยานยนต์
  • การก่อสร้าง
  • การออกแบบ อัญมณีและแฟชั่น
  • การบิน / การป้องกัน / โลจิสติกส์ 

วันเวลาประชุม

       วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม 2564 เวลา 9.30 - 12.00 น. (ประชุมออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom)

กลุ่มเป้าหมาย

       ประกอบด้วย นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ / ผู้ทรงคุณวุฒิผู้ประกอบการ ผู้ใช้ (user) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานเชิงนโยบาย หน่วยงานด้านมาตรฐาน

ติดต่อสอบถาม

       Tel. 086-994-0015

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
Admin Tech2biz