การเติบโตของธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ..โอกาสของผู้พัฒนาเทคโนโลยี (ตอนที่ 2) 2098 Views

รายละเอียด

บทความโดย Tech2Biz

    

        จากตอนที่ 1  การเติบโตและการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจให้บริการด้านสุขภาพในปัจจุบัน ส่งผลให้ธุรกิจสถานพยาบาลหลายแห่งจำเป็นต้องปรับปรุงรูปแบบการให้บริการ ซึ่งแนวทางหนึ่งคือการพัฒนานวัตกรรมการให้บริการด้านการแพทย์และสุขภาพที่เป็นของตนเอง นอกเหนือจากการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและเพิ่มโอกาสในการดึงดูดลูกค้ามากขึ้น  อีกทั้งยังเป็นไปเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของสถานพยาบาล / โรงพยาบาลเองด้วย  จึงเป็นโอกาสของนักวิจัยไทยในการพัฒนางานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจให้บริการทางการแพทย์และสุขภาพ 

        เทรนด์สำหรับธุรกิจให้บริการด้านการแพทย์และสุขภาพที่มีแนวโน้มเติบโตสูง และน่าจะเป็นโจทย์ให้นักวิจัย นักประดิษฐ์สายนี้  ในการพัฒนาคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้แก่ 

        1. ธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพและความงาม ไม่ว่าจะเป็นอาหารเสริม เครื่องสำอาง เป็นธุรกิจที่มีอัตราการเจริญเติบโตและขยายตัวอย่างต่อเนื่องทุกปี เพราะปัจจุบันทั้งเพศชาย เพศหญิง ในทุกช่วงวัย ต่างดูแลตัวเองมากขึ้น ให้ความสนใจเกี่ยวกับสุขภาพ ความงาม และผิวพรรณ  ต้องการให้ตัวเองดูดีขึ้น เป็นเหตุให้ธุรกิจด้านความงาม คลินิกดูแลรักษาผิวพรรณ เครื่องสำอางแบรนด์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมายเพื่อรองรับกับความต้องการที่สูงขึ้นทุกปี


     

        2. ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ หรือ Nursing Home จากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมผู้สูงอายุ ประกอบกับสภาพสังคมยุคปัจจุบันที่คนวัยทำงานต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ทำให้มีเวลาในการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวน้อยลง จึงจำเป็นที่บุตรหลานใช้บริการธุรกิจดูแลผู้สูงอายุซึ่งมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น


 

        3. ธุรกิจบริการที่ตอบโจทย์เทรนด์ด้าน Health Care เช่น  การให้ความรู้เรื่องการออกกำลังกายควบคู่ไปกับการควบคุมโภชนาการอาหารที่ถูกต้อง ปัจจุบันมีกลุ่มคนจำนวนมากหันมาดูแลรักษาสุขภาพ ทำให้โรงพยาบาลเอกชนมีการขยายการให้บริการดังกล่าว โดยการจัดทีมแพทย์หรือบุคลากรที่เกี่ยวข้องและมีความชำนาญในเรื่องดังกล่าว อาทิ นักโภชนาการ นักวิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อรองรับกับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต


 

        4. ธุรกิจให้บริการนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) ชาวต่างชาติที่เข้ารับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทยมีจำนวน 1-2 ล้านคนต่อปี  ซึ่งร้อยละ 80 เป็นนักท่องเที่ยวที่มีวัตถุประสงค์เข้ามารับบริการทางการแพทย์โดยเฉพาะ โดยตลาดหลักของไทย ได้แก่ พม่า ญี่ปุ่น ตะวันออกกลางและยุโรป สำหรับตลาดใหม่ที่มีโอกาสเติบโตสูง ได้แก่ อาเซียนและจีน ซึ่งตลาด Medical Tourism เป็นตลาดที่เริ่มมีการแข่นขันรุนแรง ซึ่งคู่แข่งที่สำคัญของไทย คือ สิงคโปร์และมาเลเซีย 


 

      5. ธุรกิจการวินิจฉัยโรคและการรักษาแบบดิจิตอล เป็นการนำเทคโนโลยีด้านการสื่อสารโทรคมนาคม (โทรศัพท์, คลื่นวิทยุ, คลื่นไมโครเวฟ , wi-fi, เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ , 3G , 4G, ดาวเทียม เป็นต้น)  มาช่วยในการตรวจวินิจฉัย รักษาโรค และดูแลผู้ป่วย ตัวอย่างเช่น  เทคโนโลยี “Telemedicine” หรือ “การรักษาโรคแบบทางไกล”  คือการนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้เพื่อให้บริการสาธารณสุขเข้าถึงพื้นที่ห่างไกล ขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ  นอกจากนี้ ยังรวมถึงเทคโนโลยีด้านบล็อกเชน (Blockchain technology) ซึ่งได้รับความนิยมใช้เป็นระบบฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเก็บข้อมูลทางการแพทย์ ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการวินิจฉัยและการรักษาของแพทย์ รวมทั้งการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลผู้ป่วย ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการใช้เทคโนโลยีนี้ในโรงพยาบาลในประเทศไทย จึงนับเป็นโอกาสของนักวิจัยในการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อให้บริการแก่หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน รวมทั้งผู้ป่วย


 

        6. ธุรกิจผลิตและให้บริการด้านอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ เป็นที่คาดหมายกันว่าอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ น่าจะเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งดวงใหม่ของประเทศไทยที่สร้างมูลค่าทางการตลาดอย่างมหาศาล  สำหรับประเทศไทยถือเป็นประเทศผู้นำเข้าและส่งออกเครื่องมือแพทย์รายใหญ่ในอาเซียน เนื่องด้วยประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพของโลก ประกอบกับธุรกิจโรงพยาบาลรัฐและเอกชนกำลังเร่งปรับตัวเพิ่มศักยภาพทางการแพทย์ ทำให้มีการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อรองรับบริการของผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น  ในขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ส่วนใหญ่ของไทยยังเป็นลักษณะซื้อมาขายไป ยังขาดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นของตนเอง จึงนับเป็นโอกาสของนักวิจัยในการพัฒนาคิดค้นนวัตกรรมด้านนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตสูง


 

        อย่างไรก็ตาม แนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีที่นำเทรนด์แนวโน้มความต้องการของอุตสาหกรรมมาเป็นโจทย์ในการพัฒนา เป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นเท่านั้น การพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการ ซึ่งหมายถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการจากเทคโนโลยีจะ “ขายได้จริง”หรือไม่นั้น จำเป็นต้องพิจารณาจากองค์ประกอบและปัจจัยอีกหลายๆ ด้าน อาทิ พฤติกรรม ความต้องการของผู้บริโภค /ผู้ใช้ในแต่ละผลิตภัณฑ์และบริการย่อยที่อยู่ในธุรกิจหลักนั้นๆ  โอกาสและข้อจำกัดในการเข้าถึงตลาด การแข่งขันและคู่แข่งขันในตลาด รวมไปถึงความเป็นไปได้ในกระบวนการผลิตจริงในระดับอุตสาหกรรม (scale up) มาตรฐานด้านกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ (process and product standardization) ก่อนผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ใช้และผู้บริโภค  ปัจจัยเหล่านี้เป็นเรื่องที่นักวิจัยจำเป็นต้องศึกษาและคำนึงถึงในกระบวนการคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งจะส่งผลลัพธ์ต่อผลงานที่พัฒนาเสร็จแล้วในท้ายที่สุดว่าจะสามารถนำไปใช้ได้จริงหรือไม่ หรือเป็น “เทคโนโลยีขึ้นหิ้ง” ที่ไม่สามารถนำไปใช้ได้จริง 

Tech2biz
Admin Tech2biz