การประเมินมูลค่าเทคโนโลยี (ตอนที่ 3) 1365 Views

รายละเอียด

บทความโดย : รัชกฤช คล่องพยาบาล

กรรมการชุดโครงการผลักดันงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ (RCU) 


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)


ปัจจัย 5W2H ในการประเมินมูลค่าเทคโนโลยี - What

 

 

จากตอนที่แล้วที่ได้กล่าวถึงเรื่องของ Why ซึ่งถือเป็นปัจจัยเริ่มต้นที่นำไปสู่ปัจจัยอื่นๆ ตามมา ในตอนนี้จะกล่าวถึง W ตัวที่สอง คือ What หรือ อะไร คือเป็นเรื่องของคุณสมบัติหรือลักษณะของเทคโนโลยี ที่ไม่ได้หมายถึงชนิดหรือประเภทของเทคโนโลยีในเชิงศาสตร์สาขา เช่น นาโนเทคโลยี เทคโนโลยีชีวภาพ แต่จะหมายถึงคุณลักษณะของเทคโนโลยี (Technology characteristics) ที่จะมีความสัมพันธ์หรือส่งผลกระทบไปยัง 3W2H ที่เหลือ ซึ่งปัจจัย What ดังกล่าวมักเกี่ยวข้องกับการสร้างรายได้จากการใช้ประโยชน์ และต้นทุนการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีในการประเมินมูลค่า โดยมีรายละเอียดดังนี้

What

ปัจจัย “What” หรือ “อะไร” จะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่จะทำการประเมินมูลค่าคืออะไร หรือมีรายละเอียดของเทคโนโลยีเป็นอย่างไร ซึ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการประเมินมูลค่าที่มาจากคุณสมบัติหรือลักษณะของเทคโนโลยี ที่ส่งผลกระทบไปยังการใช้ประโยชน์ต่อปัจจัยอื่นๆ ทั้งที่เป็นด้านบวกและด้านลบ โดยตัวอย่างของคุณสมบัติต่างๆของเทคโนโลยีที่ควรนำมาพิจารณาสำหรับการประเมินมูลค่า ได้แก่

ระดับความพร้อมของเทคโนโลยี (Technology Readiness)

เทคโนโลยีที่มีความพร้อมในการใช้ประโยชน์ระดับสูง คือพร้อมที่จะใช้ประโยชน์ได้ทันที ย่อมส่งผลต่อความเร็วในการสร้างรายได้หรือการนำผลิตภัณฑ์จากการใช้ประโยชน์ออกสู่ตลาด และไม่จำเป็นต้องมีการพัฒนาหรือลงทุนเพิ่มเติมมากนัก ทำให้มีความเสี่ยงด้านการพิสูจน์ว่าเทคโนโลยีสามารถทำงานได้จริง (Technology proofing) ในระดับต่ำ ในขณะที่เทคโนโลยีที่มีความพร้อมในระดับต่ำ ธุรกิจที่ต้องการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีมีความจำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนาเพิ่มเติม หรือมีความจำเป็นต้องมีการพัฒนาหรือลงทุนในกระบวนการผลิต เพื่อให้เทคโนโลยีมีความพร้อมที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์หรือสินค้าออกสู่ตลาด ทำให้มีความเสี่ยงด้านการพิสูจน์ว่าเทคโนโลยีสามารถทำงานได้จริงในระดับสูง จึงทำให้ความเร็วในการสร้างรายได้หรือระยะเวลาการนำผลิตภัณฑ์จากการใช้ประโยชน์ออกสู่ตลาดอาจใช้เวลายาวนานกว่า เนื่องจากจำเป็นต้องรอขั้นตอนการพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยีให้พร้อมสู่กระบวนการผลิตเชิงอุตสาหกรรม ทั้งนี้เกณฑ์พิจารณาเกี่ยวกับความพร้อมของเทคโนโลยีในประเทศไทยมักใช้เกณฑ์ TRLs 1-9 ที่ NASA กำหนดเป็นเกณฑ์บ่งชี้ระดับความพร้อม โดยค่าตัวเลขสูงๆ เช่น 7, 8, 9 หมายถึงเทคโนโลยีมีความพร้อมในระดับสูง อย่างไรก็ตามการประเมินความพร้อมก็อาจใช้เกณฑ์ของ Automotive Technology and Manufacturing Readiness Levels ที่พัฒนาจาก UK ที่ระบุความพร้อมเกี่ยวกับการผลิตในอุตสาหกรรม สำหรับการพิจารณาได้ด้วยเช่นกัน โดยแบ่งระดับความพร้อมออกเป็น 10 ระดับ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับ TRLs ของ NASA แต่เพิ่มระดับที่ 10 สำหรับการประเมินด้านบริการหรือการนำเทคโนโลยีไปใช้ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งในการประเมินมูลค่าผู้ประเมินควรต้องเข้าใจเกี่ยวกับความพร้อมของเทคโนโลยีที่ทำการประเมินให้ชัดเจน เนื่องจากบ่อยครั้งพบว่าเทคโนโลยีที่ถ่ายทอดอยู่ในระดับ 4-5 เท่านั้น ซึ่งกว่าที่จะพัฒนาจนพร้อมสู่การใช้ประโยชน์จริง จำเป็นต้องใช้เวลาวิจัยและพัฒนาเพิ่มเติม ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญในการประเมินมูลค่า ที่จะลดลงหรือแปรผันไปตามระดับความพร้อมของเทคโนโลยี

ความต้องการทรัพยากร (Resource Availability Requirements)

เทคโนโลยีแต่ละชนิดแต่ละประเภท จะมีความต้องการทรัพยากรสำหรับการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ที่แตกต่างกัน บางเทคโนโลยีจำเป็นต้องมีการใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ทั้งด้านโรงงาน สถานที่ วัตถุดิบ เครื่องจักร อุปกรณ์ บุคลากร เงินทุน ที่อาจต้องมีการลงทุนใหม่หรือการลงทุนเพิ่มเติม ในขณะที่เทคโนโลยีบางชนิดสามารถผนวกรวมเข้ากับเทคโนโลยีเดิมหรือกระบวนการผลิตเดิมได้ทันที ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีการลงทุนใหม่หรือการลงทุนเพิ่มเติมด้านทรัพยากร ดังนั้นในการประเมินมูลค่าผู้ประเมินจำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับความต้องการทรัพยากรที่ต้องใช้ในการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีให้ชัดเจน โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่มีที่มาจากหน่วยงานวิจัย หรือของมหาวิทยาลัยในระดับห้องปฏิบัติการ ที่อาจพัฒนาขึ้นโดยไม่ได้นำปัจจัยการใช้ทรัพยากร หรือบริบทเชิงธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งผู้ประเมินอาจจำเป็นต้องปรับแก้สมมติฐานบางอย่าง เช่น ต้นทุนต่อหน่วยผลิต ต้นทุนวัตถุดิบ กระบวนการผลิต หรือกำหนดสมมติฐานมูลค่าการลงทุนแท้จริงถ้ามีการใช้ประโยชน์สำหรับกำหนดเป็นฐานคำนวณการประเมินมูลค่าเทคโนโลยี โดยเฉพาะถ้าเป็นการประเมินด้วยวิธีรายได้ ซึ่งการปรับแก้สมมติฐานต่างๆ ด้านทรัพยากรจากฐานการคิดระดับห้องปฏิบัติการ สู่ฐานการคิดระดับอุตสาหกรรมจะได้กล่าวถึงต่อไปในช่วงการกำหนดสมมติฐานการประเมินมูลค่า

ความซับซ้อนของเทคโนโลยี (Technology complexity)

เทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนสูง จะทำให้ยากต่อการลอกเลียนแบบจากคู่แข่งขัน ซึ่งจะส่งผลให้เทคโนโลยีดังกล่าวมีระยะเวลาการใช้ประโยชน์ที่ยาวนานกว่าเทคโนโลยีที่ไม่มีความซับซ้อนหรือสามารถลอกเลียนแบบได้ง่าย กล่าวคือความซับซ้อนของเทคโนโลยี จะส่งผลต่อระยะเวลาการใช้ประโยชน์ที่ยาวนานขึ้น แต่ทว่าเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนก็มีความจำเป็นที่ต้องใช้กระบวนการที่เกี่ยวข้องหลายขั้นตอน หรือมีการใช้เทคโนโลยีอื่นๆเข้ามาประกอบ ทำให้ต้นทุนการพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ก็จะสูงมากขึ้นตามไปด้วย และในแง่ของผู้ใช้ประโยชน์หรือธุรกิจที่มีความพร้อมจะใช้ประโยชน์เทคโนโลยีที่มีความซับซ้อน จะมีจำนวนไม่มากนักในอุตสาหกรรม เนื่องจากจำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญ ทรัพยากร บุคลากร เทคโนโลยี และเงินทุนในระดับสูง ซึ่งอาจต้องเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่จึงจะมีความพร้อมในระดับดังกล่าว ในขณะที่ธุรกิจ SMEs อาจไม่มีความพร้อมในทรัพยากรต่างๆอย่างเพียงพอ หรืออาจกล่าวได้ว่า เทคโนโลยีที่ซับซ้อนสามารถใช้ประโยชน์ได้นานกว่า แต่ต้นทุนก็มากกว่า รวมถึงธุรกิจที่มีความพร้อมก็จะมีจำนวนจำกัดด้วยเช่นกัน ในทางกลับกันก็อาจกล่าวได้ว่า เทคโนโลยีที่ไม่มีความซับซ้อน จะสามารถใช้ประโยชน์ได้ในเวลาไม่นาน แต่ต้นทุนจะไม่สูงนัก รวมถึงธุรกิจที่มีความพร้อมจะค่อนข้างมีจำนวนมากราย

เทคโนโลยีคู่แข่งขัน หรือเทคโนโลยีที่มีความคล้ายคลึงกัน (Competitive or Similar Technology)

แม้ว่าในการประเมินมูลค่าจะเป็นการประเมินเฉพาะเทคโนโลยีที่ต้องการประเมิน แต่ทว่าผู้ประเมินมูลค่าจำเป็นต้องมีการศึกษาข้อมูลของเทคโนโลยีคู่แข่งขัน หรือเทคโนโลยีที่มีความคล้ายคลึงกันที่มีการใช้อยู่ในอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการวิเคราะห์ให้เห็นถึงความแตกต่าง จุดเด่น จุดด้อย ระหว่างเทคโนโลยีที่ทำหารประเมิน กับเทคโนโนโลยีอื่นๆ เพื่อพิจารณาว่าเทคโนโลยีที่ทำการประเมินมูลค่าสามารถแข่งขันได้กับเทคโนโลยีอื่น หรือผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากเทคโนโลยีที่ทำการประเมินมูลค่า มีความเหมาะสมกับอุตสาหกรรมประเภทใด หรือเหมาะสมกับธุรกิจประเภทใด ซึ่งจะนำไปสู่กรอบแนวคิดการกำหนดตลาดหรือที่มาของรายได้ ซึ่งผู้เขียนจะได้กล่าวถึงเรื่องของความเหมาะสมและตลาดในตอนปัจจัย Where โดยการวิเคราะห์เพื่อให้ทราบถึงความแตกต่าง จุดเด่น จุดด้อย ดังกล่าว จะช่วยให้ผู้ประเมินกำหนดสมมติฐานหรือประมาณการระยะเวลาการใช้ประโยชน์ หรืออัตราการเติบโตของรายได้อย่างมีเหตุผล หรือสามารถประเมินความล้าสมัยของเทคโนโลยีได้

ความล้าสมัยของเทคโนโลยี (Technology obsolesce) หรือการเสื่อมประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยี

เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณา โดยความล้าสมัยของเทคโนโลยีอาจเกิดมาจากตัวเทคโนโลยีเอง เช่น เป็นเทคโนโลยีที่ผู้พัฒนาตั้งใจให้ผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไปสามารถใช้ประโยชน์ได้ ด้วยกระบวนการผลิตหรืออุปกรณ์การผลิต ที่มีอยู่ในอุตสาหกรรมหรือสามารถจัดหาได้โดยทั่วไป เทคโนโลยีที่มีที่มาในลักษณะนี้ ก็จะเป็นเพียงเทคโนโลยีที่มีการปรับปรุง หรือพัฒนาจากพื้นฐานกระบวนการผลิตเดิม เทคโนโลยีลักษณะนี้จึงไม่มีความซับซ้อนและง่ายต่อการลอกเลียนแบบ หรือในอีกกรณีหนึ่ง เช่น เป็นเทคโนโลยีที่ผู้พัฒนาต้องการให้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเป็นเทคโนโลยีที่มีความใหม่ หรือมีความทันสมัย แต่เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันการพัฒนาเทคโนโลยีในระดับสูง ก็จะทำให้เทคโนโลยีดังกล่าว มีความใหม่หรือความทันสมัย หรือเป็นเทคโนโลยีที่เป็น Stage-of-the-art ในช่วงเวลาปัจจุบันกลายเป็นล้าสมัยในเวลาไม่นาน อันเกิดจากจากเทคโนโลยีใหม่หรือเทคโนโลยีของคู่แข่งขันที่มีการพัฒนาขึ้นในช่วงหลัง หรือความใหม่หรือความทันสมัยของเทคโนโลยีหายไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งความล้าสมัยของเทคโนโลยีดังกล่าวนี้จะส่งผลโดยตรงกับระยะเวลาที่สามารถแสวงหาประโยช์จากเทคโนโลยี หรืออัตราการเติบโตของการสร้างรายได้ ที่อาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหรือเป็นอัตราเร่งในช่วงแรก และลดลงในช่วงเวลาไม่นาน 

เทคโนโลยีที่ต้องใช้ประกอบ (Technology Complementary)

เทคโนโลยีบางอย่างมีความจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกันกับเทคโนโลยี จึงจะสามารถทำงานหรือเกิดผลทางปฏิบัติได้ บ่อยครั้งที่พบว่าตัวเทคโนโลยีที่ทำการประเมินมูลค่ามีการลงทุนไม่มากนัก แต่เมื่อพิจารณาถึงเทคโนโลยีที่ต้อใช้ประกอบ โดยเฉพาะด้านการลงทุนเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือทรัพยากรอื่นๆ จะกลายเป็นมูลค่าการลงทุนที่สูงมาก หรือมีต้นทุนรวมของการใช้ประโยชน์ในมูลค่าสูง ซึ่งผู้ประเมินมีความจำเป็นต้องพิจารณาในเรื่องนี้ให้ครบถ้วน เนื่องจากเทคโนโลยีที่ต้องใช้ประกอบนี้แม้ว่าจะไม่ใช่ต้นทุนทางตรง แต่อาจพิจารณาได้ว่าเป็นต้นทุนไม่ชัดแจ้ง (Implicit cost) ที่แฝงอยู่ในต้นทุนรวมของการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี หรือในทางกลับกันเทคโนโลยีที่ทำการประเมินมูลค่าเป็นเพียงเทคโนโลยีที่ต้องใช้ประกอบ เข้ากับเทคโนโลยีหลักอื่นๆ ซึ่งการประเมินมูลค่าเทคโนโลยีจะประเมินในฐานะเทคโนโลยีหลัก ที่จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีรองอื่นๆเข้ามาประกอบ หรือเป็นการประเมินเทคโนโลยีในฐานะเทคโนโลยีรองที่เป็นส่วนประกอบของเทคโนโลยีหลัก  ซึ่งผู้ประเมินจำเป็นต้องมองภาพรวมของการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีให้ชัดเจน เนื่องจากจะส่งผลต่อการประเมินเกี่ยวกับต้นทุนการใช้ประโยชน์ หรืออัตราผลตอบแทนการลงทุน (Return on investment - ROI) ของมูลค่าเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน

นอกเหนือจากประเด็นดังกล่าวที่ผู้เขียนยกตัวอย่างมาข้างต้น เพื่อให้เห็นภาพเกี่ยวกับปัจจัย What กับการประเมินมูลค่าเทคโนโลยี ผู้ประเมินยังอาจนำประเด็นอื่นๆ เข้ามาร่วมพิจารณาสำหรับการกำหนดสมมติฐานหรือกรอบวิธีคิดในการประเมินมูลค่า หรือการเลือกวิธีการประเมินมูลค่า ตัวอย่างเช่น ลักษณะเฉพาะของเทคโนโลยี (Technology uniqueness) ประสิทธิภาพของเทคโนโลยี (Technology benchmark) ข้อจำกัดที่เกิดจากมาตรฐานอุตสาหกรรมหรือระเบียบข้อบังคับ (Industry standard constraint) ผลกระทบต่อสังคมหรือสภาพแวดล้อม (Social or environment impact) ซึ่งประเด็นเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลในแง่ของการกำหนดสมมติฐาน หรือการประเมินมูลค่าที่แตกต่างกัน โดยในตอนต่อไปจะกล่าวถึงเรื่องของ W ตัวที่สามคือเรื่องของ Who 

 

Tech2biz
Admin Tech2biz